ในเกมดังกล่าว แมนฯ ยูไนเต็ด ออกนำก่อนจากประตูของ มาร์คัส แรชฟอร์ด ในนาทีที่ 36 อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะถึงจังหวะนั้นมันมีชอตที่ ลินเดอเลิฟ เหมือนจะไปเล่นงาน โอริกี้ ตอนที่บอลอยู่ในฝั่งของเจ้าบ้าน โดยมันก็ทำให้หลายคนของฝั่ง ลิเวอร์พูล มองว่ากรรมการควรจะเป่าฟาวล์ในชอตนี้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็จะส่งผลให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้ประตูนี้ไปโดยปริยาย ถึงกระนั้น แอ็ตกินสัน กลับไม่เป่าฟาวล์ และ วีเออาร์ ก็ไม่ได้แจ้งให้เชิ้ตดำในสนามเปลี่ยนคำตัดสินด้วย
ทั้งนี้ กฎระบุเอาไว้ว่า วีเออาร์ จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเพียงผู้ช่วยเท่านั้น และจะเข้ามาแทรกแซงการตัดสินของกรรมการเฉพาะจังหวะที่ทีมงาน วีเออาร์ มองว่าเป็นความผิดพลาดขั้นร้ายแรง อย่างเช่นการที่กองหลังเข้าเสียบในฐานะแนวรับตัวสุดท้ายโดยที่ไม่โดนบอล แต่กรรมการไม่แจกใบแดง เป็นต้น ซึ่งพอ แอ็ตกินสัน บอกว่าเขาเห็นจังหวะนั้นแบบชัดเจน และมองว่า ลินเดอเลิฟ ไม่ได้ทำผิดหนักจนถึงขั้นควรจะเป็นการฟาวล์ตั้งแต่แรกแล้วนั้น ทางทีมงาน วีเออาร์ ก็พิจารณาคำตัดสินของเขาทันที และมองว่า แอ็ตกินสัน ไม่ได้ตัดสินพลาดมากพอที่จะกลับคำตัดสินได้
พีจีเอ็มโอแอล อธิบายว่า “ประการแรก กรรมการในสนามไม่คิดว่ามันเป็นการฟาวล์ ซึ่งทีมงาน วีเออาร์ ก็ได้ตรวจสอบแล้ว พร้อมกับตัดสินว่าการที่เขาไม่เป่าให้เป็นการฟาวล์มันไม่ใช่ความผิดพลาดในการทำหน้าที่อันร้ายแรงแต่อย่างใด”
“ประการที่สอง วีเออาร์ ไม่ใช่ระบบที่ทำการกลับคำตัดสิน (หมายถึง วีเออาร์ ไม่ได้มีอำนาจเปลี่ยนคำตัดสิน แค่เช็กว่ากรรมการผิดพลาดรึเปล่า แล้วค่อยแจ้งไปยังกรรมการในสนามเท่านั้น) มันมีการติดต่อมาทางเราก็จริง แต่ วีเออาร์ ก็คิดว่ามันไม่มีเหตุผลมากพอที่จะริบประตูในจังหวะนี้”
ในทางกลับกัน ถ้าเกิด แอ็ตกินสัน มองว่าเขาไม่เห็นจังหวะที่ ลินเดอเลิฟ เล่นงาน โอริกี้ แล้วล่ะก็ มันก็มีโอกาสที่ วีเออาร์ จะพิจารณาชอตดังกล่าว และถ้าพวกเขามองว่า ลินเดอเลิฟ ทำฟาวล์จริง มันก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนคำตัดสิน และส่งผลให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้ประตูในท้ายที่สุด